นิทรรศการพลังงานไฟฟ้า


นิทรรศการพลังงานไฟฟ้า เป็นนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักทำงานของโรงไฟฟ้า ข้อดีข้อเสียของโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบหลักการทางด้านไฟฟ้า รวมทั้งกลยุทธ์ที่ช่วยในการประหยัดไฟฟ้า นอกจากผู้เข้าชมจะได้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ แล้ว ยังสามารถสัมผัสและสนุกสนานกับเครื่องเล่นภายในนิทรรศการอีกมากมาย ภายในนิทรรศการพลังงานไฟฟ้าแบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 โซน ดังนี้

1. ความหวังเพื่ออนาคต (New Hope) กล่าวถึง หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ แบ่งชนิดของโรงไฟฟ้าออกเป็น 2 ประเภท คือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
2. ภารกิจเรียนรู้พลังงาน (Knowing Electricity) กล่าวถึง ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง ระหว่างเวลา 09:00 – 22:00 น. เป็นช่วงเวลาการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมและการทำงานระหว่างวันของประชาชน ส่วนช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำ ระหว่างเวลา 22:00 – 09:00 น. เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมบางส่วนลดกำลังการผลิต
3. ภารกิจผลิตไฟฟ้า (Electricity Generation) กล่าวถึง หลักการทำงานของโรงไฟฟ้า เช่น
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Power Plant) ใช้แร่ยูเรเนียน 235 เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยอาศัยความร้อนจากปฏิกิริยาแตกตัว (ปฏิกิริยาฟิชชัน) ของเชื้อเพลิง โดยความร้อนที่ได้จะถูกนำไปต้มน้ำ เพื่อให้ได้ไอน้ำที่ต่อกับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมาใช้งาน
โรงไฟฟ้าถ่านหินและชีวมวล (Coal and Biomass Power Plant) ใช้ถ่านหินและชีวมวล (สารอินทรีย์ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรรวมถึงกากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม) หลักการทำงานคือนำเชื้อเพลิงไปเผาให้เกิดความร้อนเพื่อใช้ในการต้มน้ำ ให้ได้ไอน้ำไปขับกังหันไอน้ำที่ต่อกับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าผลิต ไฟฟ้าออกมาใช้งาน
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์กังหันก๊าซที่ต่อกับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ได้กระแสไฟฟ้าออกมาส่วนหนึ่ง แล้วนำเอาความร้อนจากไอเสียของกังหันก๊าซไปต้มน้ำให้ได้ไอน้ำ โดยไอน้ำจะนำไปขับกังหันไอน้ำที่ต่อกับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมาใช้งาน
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plant) ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงอาทิตย์
โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ (Hydro Power Plant) ใช้แรงดันน้ำจากเขื่อนซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้าไปหมุนกังหันน้ำที่ต่อกับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมาใช้งาน
โรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind Power Plant) ใช้กังหันลมเป็นอุปกรณ์ในการเปลี่ยนพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้า เมื่อลมพัดจะทำให้ใบพัดหมุน แรงจากการหมุนของใบพัดจะทำให้แกนหมุนที่เชื่อมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน เกิดการเหนี่ยวนำและได้ไฟฟ้าออกมา
4. ภารกิจแสงสว่างสู่เมือง (Electricity Transmission) กล่าวถึง ระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า โดยกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งออกมาจากโรงไฟฟ้า (สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230-500 kV) ไปยังสถานีย่อยต้นทาง เพื่อปรับแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสม เพื่อส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมและสถานีย่อยจำหน่าย (สายส่งไฟฟ้าย่อย 69-230 kV) สถานีไฟฟ้าย่อยจำหน่าย (กฟน. ,กฟผ.) ลดแรงดันไฟฟ้าลง ก่อนจะนำไปใช้จริงเพื่อความเหมาะสม (สายจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง 11-22 kV) ส่งเข้าหม้อแปลงไฟฟ้า แปลงไฟฟ้าเข้าบ้านเรือน (220 V) แปลงไฟฟ้าเข้าอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล (380 V)
5. โครงสร้างทางพลังงานไฟฟ้า (Electricity Generation Structure) กล่าวถึงปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภท เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของโรงไฟฟ้า เปรียบเทียบราคาไฟฟ้าในแต่ละประเทศ เปรียบเทียบปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้า
6. กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย (EGAT: Power for Thai Happiness) กล่าวถึง  กลยุทธ์การประหยัดพลังงานไฟฟ้า 3อ. และ 4ป.
กลยุทธ์การประหยัดพลังงาน 3อ. อ.1 อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อ.2 อาคารประหยัดพลังงาน อ.3 อุปนิสัยประหยัดพลังงาน
รณรงค์ปฏิบัติการ 4 ป. “ปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก เปลี่ยนอุปกรณ์”
7. วิวัฒนาการไฟฟ้าไทย (Evolution of Thai Electricity) กล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเริ่มจัดการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 รัฐบาลได้รวมกับรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ลิกไนท์ (กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) รวมเป็น “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” มีชื่อย่อว่า “กฟผ” โดยมีอำนวจหน้าที่ในการผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วยภูมิภาค เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนต่อไป